ตัวหนังสือวิ่ง

ยินดีต้อนรับ

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ศาสตร์การสอน: วิธีการสอนโดยใช้โครงการเป็นหลัก (Project Based Instruction)


การจัดการเรียนการสอน

โดยใช้โครงการเป็นหลัก

 (Project Based Instruction) 


วิธีการสอน เป็นขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมงาน พบวิธีการสอนมีหลายวิธี สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับเนื้อหาสาระและผู้เรียน ซึ่งในที่นี้ จะนำเสนอวิัธีสอนโดยการใช้โครงการเป็นหลัก (Project Based Instruction) 

ทิศนา แขมมณี (2552,หน้า 138-140) ได้ให้หลักการ นิยาม ตัวบ่งชี้ ของวิธีการสอน โดยการใช้โครงการเป็นหลัก  สรุปได้ดังนี้

ก.หลักการ

วิธีสอนโดยการใช้การโครงการหรือโครงงานในการสอน ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อและหลักการต่อไปนี้

  1. โครงการหรือโครงงาน เป็นกิจกรรมที่มีบริบทจริงที่เชื่อมโยงอยู่ ดังนั้นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงสัมพันธ์กับความเป็นจริง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้เรียน
  2. การให้ผู้เรียนทำโครงการหรือโครงงาน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้าสู่กระบวนการสืบสวบ(process of inquiry) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้เรียนต้องใช้การคิดขั้นสูงที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้น จึงเป็นช่องทางที่ดีในการพัฒนากระบวนการทางสติปัญญาของผู้เรียน
  3. การจัดการเรียนการสอน โดยใช้โครงการเป็นหลัก ช่วยให้ผู้เรียนได้ผลิตงานที่เป็นรูปธรรมออกมา ผลผลิตที่แสดงออกถึงความรู้ ความคิดของผู้เรียนนี้ สามารถนำมาอภิปรายแลกเปลี่ยนและวิพากษ์ วิจารณ์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งผลการวิจัยทางด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ได้ชี้ชัดว่าการเรียนรู้จะพัฒนาขึ้นหากความรู้และทักษะต่างๆ สามารถแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน
  4. การแสดงผลงานต่อสาธารณชน สามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และการทำงานให้แก่ผู้เรียนได้ ซึ่งแรงจูงใจจะมีผลต่อความใส่ใจ ความกระตือรือร้นและความอดทน ในการแสวงหาความรู้ การศึกษาความรู้ และการใช้ความรู้
  5. การให้ผู้เรียนทำโครงการหรือโครงงาน นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะกระบวนการในการสืบสอบและการแก้ปัญหาแล้ว ยังสามารถช่วยดึงศักยภาพต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวของผู้เรียนออกมาใช้ประโยชน์ด้วย 

ข.นิยาม 

วิัธีสอนโดยการใช้โครงการเป็นหลัก (Project Based Instruction) คือ การจัดสภาพการณ์ของการเรียน การสอน โดยให้ผู้เรียนได้ร่วมกันเลือกทำโครงการที่ตนสนใจ โดยร่วมกันสำรวจ สังเกต และกำหนดเรื่องที่ตนสนใจ วางแผนในการทำโครงการร่วมกัน ศึกษา หาข้อมูล ความรู้ที่จำเป็นและลงมือปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้จนได้ข้อค้นพบหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่แล้วจึงเขียนรายงานและนำเสนอต่อสาธารณชน เก็บข้อมูล แล้วนำผลงานและประสบการณ์ทั้งหมดมาอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ที่ได้รับทั้งหมด


ค.ตัวบ่งชี้ 

  1. ผู้สอนและผู้เรียนมีการอภิปรายปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ผู้เรียนมีการเลือกปัญหาที่ตนสนใจที่จะจัดทำเป็นโครงการหรือโครงงาน
  2. ผู้สอนมีการชี้แจงหรือทำความเข้าใจกับผู้เรียนถึงวัตถุประสงค์ในการทำโครงการ ความคาดหวังต่อการทำโครงการ วิธีการและกระบวนการในการดำเนินการ รวมทั้งบทบาทของผู้เรียนและผู้สอน
  3. ผู้เรียนมีการร่วมกันศึกษาความรู้ในเรื่องที่จะทำจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย
  4. ผู้เรียนมีการร่วมกันวางแผนจัดทำโครงการ และการอภปรายผลการเรียนรู้ ผู้สอนมีการให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการทำโครงการตามความจำเป็น
  5. ผู้เรียนเขียนโครงการและนำเสนอผู้สอน ผู้สอนอาจให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือต่างๆ ตามความจำเป็น ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป 
  6. ผู้เรียนมีการดำเนินงานตามแผนที่ได้กำหนด จนกระทั่งผลิตชิ้นงานออกมาได้ ผู้สอนมีบทบาทในการอำนวยความสะดวก ติดตามผลการดำเนินงานของผู้เรียน ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือ ตามสมควรและให้แรงเสริมตามสมควร
  7. ผู้สอนและผู้เรียนมีการนำเสนอผลงานของผู้เรียนออกมาแสดง ชี้แจง ร่วมกันวิพากษ์ วิจารณ์ผลงาน แลกเปลียนกัน
  8. ผู้เรียนมีการปรับปรุงผลงานและเขียนรายงาน
  9. ผู้เรียนมีการนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน
  10. ผู้สอนมีการจัดให้ผู้เรียนนำเสนอผลงาน ประสบการณ์ และข้อมูล ทั้งหมดมาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกัน และสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากการทำโครงการ
  11. ผู้สอนมีการวัดและประเมินผลทั้งด้านผลผลิต คือ ชิ้นงาน จากการทำโครงการและเนื้อหาความรู้ที่ได้เรียนรู้ กระบวนการและทักษะต่างๆ ที่ได้พัฒนาและเจตคติที่เกิดขึ้น 




















บรรณานุกรม

ทิศนา แขมมณี (2552).  ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.พิมพ์ครั้งที่ 10.กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

1 ความคิดเห็น: